มีบัญญัติให้อ่านดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิตรฺ ซึ่งมีรายงานจากท่านหะซัน บิน อะลียฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ในบางสายรายงาน จากสายรายงานของชุอฺบะฮฺ บิน อัลฮัจญาจ อัลกูฟียฺ ในบันทึกของอัตติรมิซียฺและท่านอื่น ๆ ว่าแท้จริงท่านนบีﷺได้สอน(ท่านหะซัน)ให้กล่าวในดุอาอฺกุนูตว่า :
اللَّهُمَّ اهْدِنِي فِيمَنْ هَدَيْتَ، وَعَافِنِي فِيمَنْ عَافَيْتَ، وَتَوَلَّنِي فِيمَنْ تَوَلَّيْتَ….
(ไปจนกระทั่งจบหะดีษ)
ซึ่งการสอนของท่านนบีﷺได้บ่งชี้ว่าท่านได้บัญญัติการอ่านดุอาอฺบทนี้ ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่าตัวของท่านนบีﷺเองเคยขอดุอาอฺบทนี้ในละหมาดก็ตาม ด้วยเหตุนี้เอง อิหม่ามอะหมัด รอหิมาฮุลลอฮฺ จึงกล่าวว่า :“ไม่มีหลักฐานบทใดที่ถูกรายงานจากท่านนบีﷺเกี่ยวกับการดุอาอฺกุนูต”และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกัน เช่น อิบนุอับดิลบัร และท่านอื่น ๆ ดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการขอดุอาอฺกุนูตเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ ถึงแม้จะไม่มีการรายงานสำนวนที่ตายตัวจากท่านนบีﷺก็ตาม
สิ่งที่ต้องตระหนักในการกุนูต
– ให้ขอดุอาอฺที่รวบรัดและได้ใจความ
– ตามซุนนะฮฺของท่านนบีﷺนั้นไม่ให้ขอดุอาอฺกุนูตยาวจนเกินไป ซึ่งมีรายงานว่าอิหม่ามอะหมัด รอหิมาฮุลลอฮฺ ได้ระบุว่ามีซุนนะฮฺให้ขอเท่าความยาวของซูเราะฮฺ “อัลอินชิก๊อก” ก็เพียงพอแล้ว
– ถ้าหากเป็นอิหม่ามนำละหมาดจะต้องขอด้วยสำนวนพหูพจน์
ตำแหน่ง(เวลา)ของการกุนูตในละหมาด
ให้กุนูตหลังจากเงยจากรุกูอฺ ตามที่มีรายงานหะดีษส่วนมากจากท่านนบีﷺ ดังที่อัลบัยฮะกียฺได้กล่าวไว้ แต่ก็มีรายงานว่าอนุญาตให้กุนูตก่อนรุกูอฺเช่นเดียวกัน ดังปรากฏในหะดีษของอิบนุอุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา เกี่ยวกับการกุนูตในยามที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งก็อยู่ในความหมายของกุนูตในวิตรฺเช่นกัน ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ที่ประเสริฐที่สุดคือการกุนูตหลังเงยจากรุกูอฺ แต่ก็อนุญาตให้กุนูตก่อนรุกูอฺได้ ซึ่งทั้งสองมีหลักฐานยืนยัน
การยกมือในขณะดุอาอฺกุนูต
มีซุนนะฮฺสำหรับผู้ที่ขอดุอาอฺกุนูตให้เขายกมือทั้งสองของเขา ซึ่งมีรายงานจากท่านนบีﷺว่าท่านได้ยกมือทั้งสองของท่านในตอนที่ท่านขอดุอาอฺกุนูต และบรรดาศอหาบะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็ได้ยกมือด้วยเช่นกัน
ลักษณะการยกมือ
นักวิชาการได้ระบุว่าการยกมือในดุอาอฺกุนูตส่งเสริมให้ปฏิบัติได้ 2 ลักษณะด้วยกัน :
1. ยกมือขึ้นระดับหน้าอก โดยให้แบฝ่ามือทั้งสองออก และให้หันมันขึ้นสู่ท้องฟ้าและเอียงเข้าหาใบหน้าในเวลาเดียวกัน และให้มองไปยังฝ่ามือทั้งสองขณะขอดุอาอฺ
2. หรือจะหันฝ่ามือทั้งสองเข้าหาใบหน้า และให้ปลายนิ้วทั้งหมดชี้ขึ้นไปยังท้องฟ้า และหลังมือหันไปทางทิศกิบละฮฺทั้งสองลักษณะนี้ส่งเสริมให้กระทำในละหมาดส่วนการยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะนั้น นักวิชาการระบุว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะการแหงนมองท้องฟ้าในละหมาดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
ลูบหน้าหลังจบดุอาอฺ
เกี่ยวกับการลูบหน้าหลังเสร็จสิ้นการขอดุอาอฺในละหมาดวิตรฺและเวลาอื่น ๆ นั้น มีหะดีษหลายบทจากท่านนบีﷺที่ถูกรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัลมุบาร็อก รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : “ไม่มีหะดีษศ่อฮีหฺจากท่านนบีﷺที่มายืนยันถึงความประเสริฐของการลูบหน้าหลังจากขอดุอาอฺ” แต่อัลฮาฟิซ อิบนุหะญัร รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : “ไม่มีหะดีษที่มาบอกถึงความประเสริฐ” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่มีรายงานมาจากบรรดาศอหาบะฮฺและนักวิชาการหลังจากพวกเขาโดยภาพรวมแล้วนั้น ได้บ่งชี้ว่าการลูบหน้ามีที่มาที่ไป นักวิชาการจึงกล่าวว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ และบรรดาชาวสะลัฟบางส่วนก็ได้ปฏิบัติเช่นกัน
ศอลาวาตนบีในดุอาอฺกุนูต
ส่งเสริมให้กล่าวศอลาวาตนบีﷺในดุอาอฺกุนูต เพราะการศอลาวาตเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติให้กระทำในละหมาดทั่วไปอยู่เเล้ว อีกทั้งมันยังเป็นสาเหตุของการตอบรับดุอาอฺอีกด้วย
เวลาของการกุนูต
การดุอาอฺกุนูตสามารถปฏิบัติได้ตลอดเดือนรอมฎอน แต่ถ้าละทิ้งบ้างบางครั้งก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้เอาเวลานั้นไปทุ่มเทกับสิ่งที่ประเสริฐกว่า นั่นก็คือการอ่านอัลกุรอาน
สรุปจาก : อะหฺกาม เศาะลาฮฺ อัลวิตรฺ ของ ชัยคฺ ดร.อับดุสสลาม บิน มุฮัมหมัด อัชชุวัยอิร หะฟิซอฮุลลอฮฺ
ยูนุส อ่าวน้ำ
20 รอมฎอน 1443
อ้างอิง
ขอบคุณบทความจากเฟสบุค Yunus Aonam