Homeความรู้ศาสนาวิธีจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ , ใครต้องจ่าย , ใครมีสิทธิ์รับ ?

วิธีจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ , ใครต้องจ่าย , ใครมีสิทธิ์รับ ?

ซะกาตฟิตเราะห์คืออะไร ?

ซะกาตุลฟิตร์ หรือ ที่เรานิยมเรียกกันติดปากว่า “ซะกาตฟิตเราะฮ์” นั้น เป็นบทบัญญัติที่อัลลอฮฺ ﷻ ทรงกำหนดให้เป็นฟัรฎู (ภาคบังคับ) เหนือมุสลิมทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในเดือนรอมฎอน แม้กระทั่งทารกที่คลอดในชั่วโมงสุดท้ายของรอมฎอนก็ตาม (หมายถึงก่อนดวงอาทิตย์ของวันสุดท้ายจะลับขอบฟ้า)โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นไทหรือเป็นทาส ร่ำรวยหรือยากจน มีสติสัมปชัญญะหรือคนสติไม่ดี ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยเช่นกัน ดังหะดีษต่อไปนี้ :

عَنِ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا، قَالَ : فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيرٍ عَلَى الْعَبْدِ وَالْحُرِّ، وَالذَّكَرِ وَالْأُنْثَى، وَالصَّغِيرِ وَالْكَبِيرِ مِنَ الْمُسْلِمِينَ، وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدَّى قَبْلَ خُرُوجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلَاةِ.(متفق عليه)

จากอิบนุอุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า :

“ท่านรอซูลุลลอฮ์ﷺได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ เป็นผลอินทผลัมจำนวน 1 ศออ์(ทะนาน) หรือข้าวบาร์เล่ย์จำนวน 1 ศออ์ ให้เป็นสิ่งจำเป็นเหนือทาสเเละผู้ที่เป็นไท ชายเเละหญิง เด็กเเละผู้ใหญ่จากบรรดามุสลิม เเละได้สั่งให้ปฏิบัติก่อนที่ผู้คนจะออกไปสู่การละหมาด(อีด)”

(บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์เเละมุสลิม)

และส่งเสริมให้จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ให้แก่ทารกในครรภ์ด้วย ดังที่ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้วางรูปแบบเอาไว้

ทั้งนี้เป้าหมายของซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นเพื่อเป็นการชำระล้างผู้ถือศีลอดจากสิ่งไร้สาระต่างๆที่เขาได้กระทำในระหว่างที่เขาถือศีลอด เเละเพื่อเป็นอาหารเเก่คนยากจน ดังหะดีษต่อไปนี้ :

فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ، مَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلَاةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ، وَمَنْ أَدَّاهَا بَعْدَ الصَّلَاةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ. (رواه أبوداود وابن ماجه)

รายงานจากท่าน อิบนุอับบาส กล่าวว่า:

“ท่านรอซูล ﷺ ได้กำหนดจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ เพื่อเป็นการชำระผู้ถือศีลอดจากคำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย เเละเป็นอาหารให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน บุคคลใดที่จ่ายก่อนละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์)ก็ถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายหลังละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์)ก็ถือว่าเป็นการทำศอดาเกาะฮ์อย่างหนึ่งจากบรรดาศอดาเกาะฮ์ทั่วๆไป”

(บันทึกโดยอบูดาวูดเเละอิบนุมาญะฮ์)


ใครบ้างที่ต้องจ่ายซะกาต ฟิตเราะห์

ซะกาตฟิตเราะห์ ตามมติฉันท์ของอุละมาอ์ถือเป็นฟัรฏู (จำเป็น) สำหรับมุสลิมทุกคนไม่ว่าจะเป็นทาส เป็นไท ชาย หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่

บรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่ถือว่า หากบุคคลใดมีอาหารหรือข้าวสารไม่ครบนิศอบ(คือ 1 ศออ์ขึ้นไป) ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ในที่นี้รวมถึงทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาก็ไม่ต้องจ่าย แต่หากผู้ปกครองสมัครใจจะจ่ายให้ย่อมถือเป็นสุนนะฮฺ เนื่องจากมีปรากฏการกระทำของท่านอุษมาน บินอัฟฟาน ซึ่งตรงกับทัศนะของบรรดานักวิชาการสายมัซฮับหัมบะลีย์


ใครมีสิทธิ์รับซะกาต ฟิตเราะฮ์

ซะกาตฟิฏเราะห์สามารถแจกจ่ายไปให้แก่บุคคลทั้ง 8 ประเภทเช่นเดียวกับในกรณีของซะกาตุลมาล นี้คือทัศนะของบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่ (ญุมหูร)

แต่ที่ถูกต้องตามตัวบทหลักฐานเเละเป็นทรรศนะที่มีน้ำหนักของนักวิชาการคือ ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตฟิตเราะฮ์มีจำพวกเดียวเท่านั้น นั่นคือคนยากจนเเละขัดสน ดังที่ระบุในหะดีษ :

และมีระบุว่าอิม่ามอะหมัด อนุญาติให้แจกจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺจำนวนศออ์หนึ่งให้แก่บุคคลหลายคน หรือจะจ่ายฟิฏเราะฮฺจำนวนหลายศออ์ให้แก่บุคคลคนเดียวก็ได้

“…طهرة للصائم من اللغو والرفث وطعمة للمساكين…”

“…เพื่อเป็นการชำระผู้ถือศิลอดจากคำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย เเละเพื่อเป็นอาหารให้กับผู้ที่ขัดสน…”


วิธีจ่ายซะกาตฟิตเราะห์

วิธีการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ นั้นจะต้องจ่ายเป็นอาหารที่เป็นอาหารหลักของคนในประเทศ โดยปริมาณของการจ่าย ดังที่มีระบุในหะดีษคือ 1 ศออ์ โดยจำนวน 1 ศออ์ของท่านนบีﷺ เท่ากับ 4 มุด ( หรือ 4 กอบมือขนาดปานกลาง) หรือถ้าเป็นข้าวสารน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม หรือ 2.7 กิโลกรัม เป็นปริมาณอย่างต่ำตามการกำหนดของสำนักจุฬาราชมนตรี

ทั้งนี้จากรายของท่านอิบนุอุมัร ว่า : ” ท่านเราะซูล ได้กำหนดซะกาตฟิฏเราะฮฺเท่ากับผลอินทผลัม 1 ศออ์ หรือข้าวบาเล่ย์ 1 ศออ์ บังคับสำหรับมุสลิมทั้งที่เป็นทาสและเป็นไท ชาย-หญิง หรือเด็กและผู้ใหญ่ โดยท่านได้สั่งให้ปฏิบัติมันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนจะเดินทางออกไปละหมาด” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)


เวลาของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์

คือให้จ่ายในช่วงเวลาก่อนการละหมาดอีด  สำหรับอุละมาอ์สายมัซฮับมาลิกียะฮฺ และหะนาบีละฮฺอนุญาติให้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันอีดสัก  2-3 วันได้ ส่วนอุละมาอ์สายชาฟิอียะฮฺมีทัศนะว่าสามารถจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนรอมฏอน  แต่ที่ดีที่สุดควรจ่ายก่อนการละหมาดอีด

เวลาของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ที่ประเสริฐที่สุด คือช่วงเช้าก่อนละหมาดอีด เเต่ถ้าหากเกรงว่าจะไม่ทัน ก็อนุญาตให้จ่ายก่อนวันอีด 1 วัน หรือ 2 วันได้ ดังที่มีปรากฏการกระทำจากเหล่าบรรดาศอหาบะฮ์ส่วนการจ่ายก่อนล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน (ก่อนมากกว่า 2 วัน) นั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีเเบบอย่างจากท่านรอซูลﷺและบรรดาศอหาบะฮ์

เเละไม่อนุญาตให้ล่าช้าจนกระทั่งเสร็จสิ้นการละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์) เพราะถ้าหากจ่ายหลังละหมาด จะไม่ถูกนับเป็นซะกาตฟิตเราะฮ์ แต่จะเป็นเพียงศอดาเกาะฮ์ทั่วๆไป ดังหะดีษก่อนหน้านี้ ที่ว่า :

“…فمن أداها قبل الصلاة فهي زكاة مقبولة ، ومن أداها بعد الصلاة فهي صدقة من الصدقات “.

“…บุคคลใดที่จ่ายก่อนละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์)ก็ถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายหลังละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์)ก็ถือว่าเป็นการศอดาเกาะฮ์อย่างหนึ่งจากบรรดาศอดาเกาะฮ์ต่างๆ”

(บันทึกโดยอบูดาวูดเเละอิบนุมาญะฮ์)


สถานที่ในการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์

สำหรับเรื่องสถานที่จ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺนั้น มีปรากฏในตำรา “อัล-มุเดาวะนะฮฺ” ถามว่า หากบุคคลผู้นั้นเป็นชาวแอฟริกา และเขาเดินทางมายังประเทศอียิปต์ในช่วงที่ต้องจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺพอดี เขาจะต้องจ่ายซะกาตที่ไหน ? อิม่ามมาลิกตอบว่า “ เขาอยู่ที่ไหน ก็ให้จ่ายที่นั้น แต่หากครอบครัวของเขาที่แอฟริกาจะจ่ายแทนให้แก่เขา ก็ถือว่าสามารถทำได้ ”

เช่นกันท่านอิบนุกุดามะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ)ให้ทัศนะว่า “ ในกรณีของซะกาตฟิตเราะฮฺนั้นจำเป็นต้องแจกจ่ายไปในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เท่านั้น ไม่ว่าสมบัติของเขาจะมีอยู่ในประเทศนั้นหรือไม่ก็ตาม ” ซึ่งทัศนะที่หนักแน่นที่สุดของอุละมาอ์สายชาฟิอียะฮฺ คือ ซะกาต(ฟิตเราะฮฺ)มิสามารถเคลื่อนย้าย(ไปจ่ายในอีกท้องที่หนึ่งได้) ส่วนทัศนะรองถือว่าอนุญาติทำได้ทั้งนี้เพื่อให้ถึงแก่บรรดาคนยากจน(ฟุกอรออ์)เป็นสำคัญตามที่ปรากฏในอายะฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดาอุละมาอ์มากมายหลายท่านด้วยกัน


จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์เป็นเงินได้หรือไม่ ?

บรรดาอุละมาอ์ (นักนิติศาสตร์อิสลาม) มีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้

อิหม่ามมาลิก (ร.ฮ.), อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.), และอิหม่ามอะฮฺมัด (ร.ฮ.)  ทั้ง 3 ท่านไม่อนุญาตให้ออกซะกาตฟิตเราะฮฺเป็นค่าที่ถูกตีราคา (อัลกีมะฮฺ) เช่น เงิน เป็นต้น ตลอดจนซะกาตประเภทอื่น ๆ ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน

ส่วนท่านอิหม่ามอัซเซารีย์ (ร.ฮ.) และท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : อนุญาตให้ออกซะกาตเป็นค่าที่ถูกตีราคานั้นได้ (เช่น ธนบัตรหรือเงินตราอย่างที่ถามมา-ผู้ตอบ) โดยอ้างการรายงานถึงท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ (ร.ฎ.) และท่านอัลฮะซัน อัลบะซอรี่ย์ (ร.ฮ.)

ในฝ่ายที่อนุญาตนั้น อิหม่ามอัลบุคอรีย์ (ร.ฮ.) ก็อยู่ในฝ่ายนี้ด้วย ดังที่อิหม่ามอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) ได้ระบุว่า : เป็นความเห็นที่ปรากฏชัด (อัซซอฮิรฺ) จากทัศนะของอัลบุคอรีย์ในหนังสือซอฮีฮฺของเขา (อัลมัจญมูอฺ 5/429)

สรุปได้ว่า การออกซะกาตฟิตเราะฮฺนั้นถ้าให้ดีที่สุดแล้ว คือ ออกเป็นอาหารหลักที่ผู้คนในบ้านเมืองนั้นบริโภคเป็นส่วนใหญ่ เช่น บ้านเราในแถบภาคกลางก็คือ ข้าวจ้าว (ข้าวสาร) หรือข้าวเหนียวในแถบภาคเหนือและอีสาน เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามตัวบทและซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และหลีกห่างจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ

แต่ถ้าเราอยู่ต่างประเทศ จะออกซะกาตเป็นเงินหรือธนบัตรตามจำนวนที่เทียบค่าจากอาหารหลัก 1 ซออฺในประเทศนั้น ๆ ก็สามารถกระทำได้ โดยถือตามความเห็นของนักวิชาการฝ่ายที่อนุญาต  และถือว่าการจ่ายซะกาตของเรานั้น เป็นที่ลุล่วงแล้วโดยไม่ต้องมอบหมาย (วะกีล) ให้คนที่อยู่ประเทศไทยออกซะกาตแทนแต่อย่างใด


อ้างอิง

กำลังน่าสนใจตอนนี้

เผย! เคล็ดลับสุขภาพดีขึ้นง่าย ๆ ด้วยนมอูฐสูตรใหม่นำเข้า มีฮาลาล

Most Popular

หมวดหมู่